เริ่มแล้ว !! Module 3 Preparation ม.บูรพา สถาบันแม่ข่ายเครือข่ายอุดมศึกษาภาคตะวันออก เจ้าภาพจัดงาน “Research Network Sandbox” โครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่สู่นักวิจัยมืออาชีพ
วันนี้ (15 ม.ค.67) รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติมา เจริญพานิช รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา ประธานเครือข่ายบริหารการวิจัยภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวต้อนรับและชี้แจงเบื้องต้นเกี่ยวกับภาพรวมในการอบรม (Orientation) ในโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่สู่นักวิจัยมืออาชีพ (Research Network Sandbox) Module 3 Preparation โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา แก้วแก่น ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารการวิจัย นักวิจัยจำนวน 56 คน จากสถาบันการศึกษาที่อยู่ในเครือข่ายบริหารการวิจัย เข้าร่วมอบรม ระหว่างวันที่ 15 – 19 มกราคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมการบรรยาย ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บรรยายหัวข้อเรื่อง ความสำคัญของการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงหทัย เพ็ญตระกูล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายหัวข้อเรื่อง การบรรยายและฝึกปฏิบัติการในประเด็น IP issues
มหาวิทยาลัยบูรพาได้ออกแบบหลักสูตรพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่สู่นักวิจัยมืออาชีพ (Research Network Sandbox) ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ 4 Module Module 1 Introduction Module 2 Planning Module 3 Preparation และ Module 4 Pitching ขึ้นเพื่อเป็นหลักสูตรทดลองสำหรับการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับนักวิจัย โดยมุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือของนักวิจัยข้ามสถาบันในอนาคต เพื่อส่งมอบคุณค่าการเป็นนักวิจัยคุณภาพให้กับประเทศ นอกจากการพัฒนาในเรื่องการบริหารจัดการเครือข่าย และการสร้างความเข้มแข็งด้านวิจัยของเครือข่าย ผ่านการดำเนินงานโครงการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายบริการการวิจัยที่ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการพัฒนาเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก/เชิงพาณิชย์ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สปอว.สนับสนุนงบประมาณให้เครือข่ายบริหารการวิจัยทั้ง 9 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายบริหารการวิจัยภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนบน ภาคอีสานตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก แล้วยังพบว่าการยกระดับศักยภาพของนักวิจัยหรือการสร้างนักวิจัยสมรรถนะสูงผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่สู่นักวิจัยมืออาชีพของมหาวิทยาลัยบูรพานั้น จะช่วยเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการทำงานร่วมกันของเครือข่ายบริหารการวิจัยให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างยั่งยืน
(ภาพ/ข่าว: กองบริหารการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา)